โดย : ม.ล.อัจฉราพร ณ สงขลา
update : 28 ตุลาคม 2558 15:40
ISBN : -
หาคนเก่งมาเข้าทำงานในบริษัท
การย้ายที่ทำงานของคนสมัยนี้เร็วมากค่ะ มีน้องอยู่คนหนึ่ง เพิ่งย้ายออกจากบริษัทเก่าไปเมื่อไม่นานมานี้แล้วไปอยู่บริษัทใหม่ เจอกันไม่กี่วันที่แล้วบอกว่ามีคนมาซื้อตัวไปอยู่บริษัทใหม่อีกแล้ว ย้ายทุกทีตำแหน่งใหญ่กว่าเดิมทุกที
เพราะเธอเป็นคนเก่งค่ะ...
ทุกองค์กรต่างก็ต้องการคนที่ "เก่ง" และหาคนที่ "ใช่" มาทำงานทั้งนั้น การหาคนเก่ง หากใช้วิธีการปรกติ ก็คือใช้วิธีการสอบคัดเลือกเหมือนกับพนักงานทั่วไป แล้วก็ดูว่าใครได้คะแนนสอบเข้าสูงสุด จากนั้นก็ไปตามดูคะแนนประเมินผลช่วงทดลองงาน
ใครได้คะแนนสูงกว่าคนอื่น ก็เจอตัวคน "เก่ง" กันตอนนั้น
การคัดเลือกคนเข้าทำงาน องค์กรก็อยากได้คนเก่งเข้ามาทุกคนนั่นแหละค่ะ สมัยนี้องค์กรบางแห่งก็สอบคัดเลือกพนักงานเอง บางบริษัทก็ไปจ้างบริษัทภายนอกคัดเลือกให้ ถ้าเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงขององค์กรอาจให้บริษัทที่รับจ้างเป็น Head Hunter ช่วยหาและติดต่อทาบทามให้
ผู้เขียนก็มีประสบการณ์ที่เคยถูกทามทามจากบริษัทที่เป็น Head Hunter ขอออกตัวว่าไม่ได้เป็นคนเก่งหรอกค่ะ... แต่อาจมีคุณสมบัติตรงกับคนที่เขากำลังหาอยู่มากกว่า ประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้ผู้เขียนได้พบกับข้อเสนอที่ตกกะใจ เขาบอกว่าหากสนใจก็ให้ตอบกลับไปภายในวันไหน เพื่อจะได้กำหนดวัน ให้เตรียมเรื่องในหัวข้ออะไรบ้างไปคุยกับคณะกรรมการของบริษัท (ความจริงแล้วก็เป็นการสอบนั่นเอง) ฯลฯ
...ไม่ได้ไปค่ะ เพราะฟังสิ่งที่เขาคาดหวังกับผู้เขียนแล้ว เงินมากมายก็จริง แต่สงสัยว่าอาจจะเส้นโลหิตในสมองแตกคางานในวันใดวันหนึ่งแน่
โดยส่วนตัว ตัวผู้เขียนเองเคยได้รับบการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการคัดเลือกพนักงานบางสายงานเข้าทำงานอยู่ประจำ ในประสบการณ์การคัดเลือกพนักงานเข้าทำงานนั้นผู้เขียนมองเห็นว่า
ไม่ว่าจะเป็นผู้เข้าสอบที่เพิ่งเรียนจบจากมหาวิทยาลัยมาหมาดๆ หรือผู้สอบที่เคยผ่านงานมาจากบริษัทอื่นเพื่อมาสอบเข้าทำงานใหม่ เหตุผลในการย้ายมาทำงานที่ใหม่มักจะมีจะอยู่ในหัวข้อต่อไปนี้
- ต้องการมีงานทำ
- ความชอบในงานที่ทำ
- ความมั่นคงในงานที่ทำ
- ความก้าวหน้าในงานที่ทำ
- สวัสดิการ ค่ารักษาพยาบาล
- ความสะดวกในการทำงานที่สัมพันธ์กับชีวิตจริงรวมทั้งการเดินทางและที่พำนัก
- ค่าตอบแทน
และเมื่อมามองในด้านองค์กรที่ต้องการบุคลากรเข้าทำงาน ก็จะมีเป้าหมายในการเลือกคนดังนี้
- เลือกคนที่เหมาะสมกับหน่วยงานในองค์กร …ในภาพรวมนั้นต้องรักษาภาพลักษณ์องค์กรไว้ได้ ซึ่งจะมองในเรื่อง การแต่งกาย บุคลิก อุปนิสัย มารยาท รู้จักกาละเทศะ รสนิยม ให้ตรงกับหน่วยงานในองค์กร บางบริษัทนั้นถึงกับให้ซินแสมาดูโหงวเฮ้งด้วย
- เลือกคนที่มีความรู้ความสามารถตรงกับงานที่ต้องการ เรื่องนี้ต้องให้หน่วยงานที่ต้องการบุคลากรตั้งข้อสอบและวิธีการให้คะแนนขึ้น อาจจะมีการสอบหลายขั้นตอน หลายเรื่อง หลายครั้ง
- เลือกคนที่มีสภาพทางจิตใจปรกติ อาจมีการสอบทัศนคติและอุปนิสัยและความถนัด เช่นพนักงานที่เกี่ยวข้องกับการเงินและทรัพย์สิน การทดสอบความสามารถการทำงานที่ต้องตัดสินใจให้ถูกต้องในห้วงเวลาจำกัด ควบคุมจิตใจให้มั่นคงในภาวะคับขันและมีทัศนคติเชิงบวกในการทำงาน จึงมีการสอบความถนัดโดยนักจิตวิทยาเพิ่มเข้ามาอีกหมวดหนึ่ง เช่น การสอบนักบินเขาอาจให้วิ่งไปวิ่งมาแล้วกรอกน้ำจากแก้วลงขวด แล้วให้คิดเลขไปด้วย
- เลือกคนที่สุขภาพร่างกายดี เพราะองค์กรคงไม่ต้องการคนที่เข้ามาแล้วป่วยประจำมาเป็นพนักงาน
ลำดับของหัวข้อในการคัดเลือกที่ว่ามานี้อาจสลับกันก็ได้
คนที่เป็นกรรมการสอบมาหลายครั้ง โดยเฉพาะกรรมการสอบสัมภาษณ์นั้นก็จะมีสัมผัสที่ 6 แรงกล้าขึ้นเรื่อยๆ แค่เพียงเห็นท่าทางเดินและแววตาคนที่เข้ามา ยังไม่ต้องพูด ก็รู้จักคนนั้นมากกว่าครึ่งแล้วค่ะ
หากถามว่าเมื่อมีการตั้งกระบวนการสอบคัดเลือกและมีกรรมการสอบคัดเลือกที่เข้าสุดๆ เต็มรูปหลายขั้นตอนอย่างนี้แล้ว ยังได้คนที่ "ไม่ใช่" เข้ามาอีกไหม
ตอบได้เลยว่ายังมี
...แต่ก็น้อยค่ะ